ธนินทร์ธร รักษาวงศ์

ครูช่างศิลปหัตถกรรม

“เราทำงานเพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนในวิถีของเรา เพื่อรักษามรดกทางภูมิปัญญาของไทยเอาไว้”

  • ครูธนินทร์ธร  รักษาวงศ์ เป็นชาวจังหวัดนราธิวาส ที่เติบโตมาท่ามกลางธุรกิจย้อมผ้าโสร่งยาวอ หรือบาติกโบราณในครัวเรือนของคุณยาย (ยายประมวล  พูลภิญโญ พี่สาวของคุณตา) นับว่าเป็นครูสอนศิลปะคนแรกที่ฝึกให้ครูธนินทร์ธรเริ่มต้นวาดลาย  ผสมสี ลงสี วิ่งเล่นภายในเขตรั้วโรงงานผ้าโสร่งปาเต๊ะ  ที่ได้สืบทอดเทคนิคภูมิปัญญาการทำจากต้นตระกูลเชื้อสายดั้งเดิมที่ก่อร่างสร้างครอบครัวที่จังหวัดภูเก็ต ก่อนมาลงหลักปักฐานที่จังหวัดนราธิวาส  ด้วยลวดลายโสร่งที่ชื่อ “เปอรานากัน (Peranakan)” หรือ ลวดลายลูกผสมระหว่างจีนและมลายู ที่คุ้นเคยกันในชื่อ "บาบ๋าหรือบ้าบ๋า(Baba) สำหรับลูกชายลูกผสม และผู้หญิงจะเรียกว่า"ย่าหยา(Nyonya)” ซึ่งกลายเป็นอัตลักษณ์สำคัญของลวดลาย “ชิโน-โปรตุกิส” ช่วงเรืองรองของการล่าอาณานิคมในแหลมมลายู
  • แม้จะเติบโตในครอบครัวที่มีคุณยายเป็นหัวเรือสำคัญในการทำโสร่งปาเต๊ะ หรือผ้าบาติก แต่เพราะ รุ่นคุณแม่ของครูธนินทร์ธรรับราชการกันทั้งหมดทำให้ โรงงานผ้าโสร่งเก่าแก่ต้องยุติลงหลังมรณกรรมของคุณยาย กระทั่งครูธนินทร์ธร สำเร็จการศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจ และช่วยครอบครัวทำงานบริหารในธุรกิจรับเหมาทำถนนในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงการค้นหาตัวเอง   แล้วพบว่าความฝัน ความสุขความทรงจำในวัยเด็กที่วิ่งเล่นในโรงงานของคุณยายมีแรงดึงดูดในการค้นหาเป้าหมายของชีวิตยิ่งกว่าการทำงานบริหาร  ทำให้ครูธนินทร์ธรตัดสินใจหันหลังให้งานบริหารเบนเข็มสู่การฟื้นฟู อนุรักษ์งานผ้าบาติกแบบโบราณสานต่อภูมิปัญญาผ้าบาติกแบบดั้งเดิมของตระกูลทันที
  • หลังกลับไปรวบรวมช่างฝีมืองานผ้าปาเต๊ะในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส พบว่าคุณยายได้ทิ้งเครื่องไม้เครื่องมือ แม่พิมพ์ลายโบราณให้กับลูกน้องคนสนิท และฝากฝังไว้ว่าสักวันจะมีผู้กลับมารื้อฟื้นสืบสานงานผ้าบาติกโบราณนี้อย่างแน่นอน เมื่อรวบรวมได้ช่างฝีมือเก่าแก่ของครอบครัวจำนวน  5 คนที่คิดฝันเหมือนกันในการรื้อฟื้นผ้าโสร่งปาเต๊ะราชสำนักดั้งเดิมขึ้นมา  ครูธนินทร์ธรเดินทางไปเรียนรู้กระบวนการขั้นตอนการผลิตผ้าโสร่งปาเต๊ะราชสำนักที่ส่งต่อลวดลายเพอรานากันดั้งเดิมที่รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซียทันที  ซึ่งเป็นโรงงานของชาวไทยตั้งแต่ครั้งต้นรัตนโกสินทร์
  • ตลอด 3 เดือนของการเรียนรู้กระบวนการผลิต ตั้งแต่การทำผ้า เตรียมผืนผ้า การออกแบบพัฒนาลาย และการย้อมผ้าทั้งหมด ยังคงใช้กระบวนการทำแบบดั้งเดิมพร้อมสูตรลับของตระกูลที่ส่งต่อเฉพาะทายาทเท่านั้น หลังกลับไทยในช่วงเริ่มต้นผลิตครูธนินทร์ธร ส่งไปจำหน่ายที่มาเลเซีย ภูเก็ต กระบี่ และเริ่มขายที่กรุงเทพมหานครในยุคที่มีการคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ OTOP ก่อตั้งกลุ่มผ้าบาติกในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสปีพ.ศ.2540
  • กระทั่งเกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่จังหวัดกระบี่ ด้วยมีฐานลูกค้าในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและกระบี่เหนียวแน่น  และสร้างแบรนด์ในชื่อ “ดาหลาบาติก” ที่เน้นความเป็นอัตลักษณ์ “มลายู – จีน- สยาม” เอาไว้ในผืนผ้าการใช้ด้วยการใช้เทคนิคแม่พิมพ์โบราณคือแม่พิมพ์โลหะทองเหลือง ทองแดง ที่มีความยุ่งยากในการขึ้นรูปแม่พิมพ์ลายแต่ละครั้ง แต่เมื่อนำมาทำเป็นลายผ้าแล้วจะได้ลายที่มีความคมชัด เป็นเอกลักษณ์
  • โดยครูธนินทร์ธรได้พัฒนาต่อยอดจากลวดลายชิโน-โปรตุกิส ให้เป็นลวดลายไทยพื้นถิ่นภาคใต้ผสมผสานด้วยการนำลายพื้นถิ่นไทยในภูมิภาคอื่นมาประยุกต์ให้ลวดลายผ้าบาติกมีความร่วมสมัยยิ่งขึ้น ประกอบกับการพัฒนาคุณภาพของสีสันให้อยู่ในความนิยมและเลือกเนื้อผ้าให้มีความหลากหลายเพื่อสร้างสรรค์งานผ้าบาติกที่ยังคงกลิ่นอายของภูมิปัญญาโบราณในอารมณ์ร่วมสมัยภายใต้แบรนด์ “ดาหลาบาติก” ได้อย่างแยบยล


ปีที่ได้รับการเชิดชูจาก sacit :
พ.ศ. 2556
เพศ :
หญิง
ประเภทผลงาน :
เครื่องทอ
สถานะ :
มีชีวิต