“นักแกะสลักงานตอไม้และรากไม้ ต้องไม่หยุดที่จะสร้างแรงบันดาลใจอยู่เสมอเพราะงานแกะชิ้นไม้ชนิดนี้แตกต่างจากงานแกะสลักอื่นๆ ความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นตัววัดคุณค่าของชิ้นงาน”
ครูวิเชษฐ์ ชุมดี เป็นชาวจังหวัดตรังในครอบครัวชาวสวนยาง ที่มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน หลังสำเร็จการศึกษาในระดับประโยควิชาชีพชั้นสูงหรือ ปวส. ในสาขาด้านการตลาด ในกรุงเทพมหานคร ครูวิเชษฐ์เริ่มต้นชีวิตมนุษย์เงินเดือนในแผนกวิเคราะห์เชื้อให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมเกษตรของไทยอยู่นานถึง 13 ปี เติบโตในสาขาอาชีพขึ้นเป็นลำดับแต่ไม่ค้นพบความสุขในชีวิต ทว่าจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังย้ายงานไปทำในสายประกันชีวิตที่ลักษณะงานมีความยืดหยุ่นขึ้น จึงคิดอยากกลับบ้านเพราะคิดอยากลงหลักปักฐานสร้างครอบครัว
ในวันที่ครูกลับบ้านนั้น บิดาคือนายเชือบ ชุมดี ได้ริเริ่มในการนำไม้จวงหอมเป็นไม้ประจำจังหวัดพังงาแต่มีขึ้นกระจายทั่วไปในเขตร้อนชื้นของภาคใต้ หรือที่เรารู้จักว่า ไม้เทพทาโร นามพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยบิดาของครูวิเชษฐ์ นำมาแกะสลักเป็นของที่ระลึก เช่น พวงกุญแจ แจกัน และพะยูน เป็นคนแรกของประเทศไทย ที่สร้างพะยูนแกะสลักเป็นสัญลักษณ์การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 29 ที่จังหวัดตรังเป็นเจ้าภาพ สร้างการจดจำให้กับไม้เทพทาโรนับแต่นั้น
ด้วยคุณสมบัติที่สำคัญของไม้เทพทาโร ที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ลักษณะเนื้อไม้เรียบเสมอกัน มีน้ำมันในตัวจึงไม่มีมอดแมลง เจาะกิน อีกทั้งเป็นไม้ที่มีน้ำมันอยู่ในเนื้อไม้ จึงทำให้ไม่เผาไหม้เมื่อจุดไฟ เคยเป็นไม้ประจำถิ่นของจังหวัดตรัง ก่อนที่จะมีการพลิกฟื้นพื้นที่ภาคใต้ให้กลายเป็นสวนยางพาราทำให้มีต่อไม้ และรากไม้เทพทาโรที่เผาไหม้ไม่หมดหลงเหลืออยู่ในพื้นที่จังหวัดตรังเป็นจำนวนมาก ครูวิเชษฐ์ กลับบ้านมาโดยยังไม่ได้วางแผนถึงอาชีพที่จะมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ หากแต่แอบนิยมงานแกะสลักของบิดาอยู่ในใจ แอบครูพักลักจำเวลาบิดาทำงาน แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากบิดาด้วยเห็นว่าเป็นงานที่ไม่สามารถยึดเป็นอาชีพหลักสำหรับครอบครัวได้
ด้วยความมุ่งมั่น ครูวิเชษฐ์ทำงานแกะสลักอย่างจริงจังเรียนรู้จักเครื่องมือด้วยตัวเอง เปิดรับการเรียนรู้งานแกะสลักในรูปแบบต่างๆ นำมาปรับกับงานแกะสลักของตนเอง เริ่มต้นจากการแกะสลักพะยูนไม้เทพทาโรที่มีรูปแบบไม่ซับซ้อน ฝึกฝีมือ จนสามารถแกะสลักของที่ระลึก เช่นพวงกุญแจ แจกัน ออกจำหน่าย จัดตั้งเป็นกลุ่มแกะสลักไม้เทพทาโรในปี พ.ศ. 2541 และร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานแกะสลักในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แลกเปลี่ยนและเห็นฝีมืองานแกะสลักไม้ของภาคเหนือจึงคิดอยากชักชวนช่างแกะสลักมาร่วมพัฒนาผลงานการแกะสลักไม้เทพทาโรจนได้ช่างแกะสลักมากฝีมือมาร่วมสร้างสรรค์ผลงาน โดยครูวิเชษฐ์ใช้ความสามารถด้านการตลาดที่มองถึงความต้องการลูกค้าเป็นหลักมาออกแบบชิ้นงานให้ขายได้ การทำงานร่วมกันของช่างฝีมือแกะสลักชั้นครูและนักการตลาดงานแกะสลักไม้เทพทาโร ทำให้ชิ้นงานของกลุ่มครูวิเชษฐ์เป็นที่รู้จักและจดจำของนักสะสมจนผลงานของกลุ่มฯก้าวข้ามการเป็นเพียงของที่ระลึกแต่เป็นชิ้นงานทรงคุณค่า ในขณะเดียวกันแม้จะต้องทำหน้าที่ขายชิ้นงานไปด้วยแต่ครูวิเชษฐ์ก็ไม่หยุดที่จะใช้เวลาว่างที่มีเริ่มต้นงานแกะสลักในอัตลักษณ์ของครูเอง
ในที่สุดเมื่อจินตนาการทำงานร่วมกับชิ้นงานที่ตอบโจทย์ของตลาด ทำให้ผลงานของครูวิเชษฐ์มีอัตลักษณ์โดดเด่นแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ชิ้นงานของครูวิเชษฐ์กลายเป็นงานศิลปะทรงคุณค่าที่มีเพียงชิ้นเดียว ด้วยลักษณะของเนื้อไม้ สีของเนื้อไม้ ลายของไม้ และจินตนาการที่ครูวิเชษฐ์ได้ออกแบบขึ้น ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแง่ของจินตนาการและความวิจิตรอ่อนช้อยของร่องรอยที่สลักลงไปบนเนื้อไม้ว่ามีเอกลักษณ์อย่างยิ่ง