“ตั้งใจทำให้งานจักสานเตยปาหนันอนุรักษ์ให้ยังคงอยู่”
ครูอ๊ะ หลงกลาง เป็นชาวอำเภอปะเหรียน จังหวัดตรัง เป็นบุตรสาวคนที่ 3 จากพี่น้อง 8 คนในครอบครัวชาวประมง เกิดและเติบโตมาในชุมชนที่เด็กหญิงจะทำงานบ้านเรือนทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจักสานใบเตยปาหนัน พืชตระกูลปาล์ม ที่ภาคกลางจะเรียกว่า ต้นลำเจียก จะชอบขึ้นตามริมหาดชายทะเล ป่าโกงกาง สูงประมาณ 5 เมตร ที่ชาวบ้านในพื้นที่คาบสมุทรมลายู อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น คุ้นเคยการนำใบเตยปาหนันมาทำเครื่องจักสานใช้ในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี ครูอ๊ะก็เริ่มต้นเรียนรู้การจักสานจากครูคนแรกคือ แม่ และยายนั่นเอง
ด้วยวัยเพียง 7 ปี เริ่มต้นสานสิ่งของเครื่องใช้จากวัสดุหาง่ายอย่างเตยปาหนัน ที่มีดาษดื่น แปรรูปเป็นเสื่อทรงกลม ทรงเหลี่ยม หมวก ผ้ารองจาน ผันเป็นรายได้ในช่วงมีตลาดนัดระหว่างสัปดาห์ เป็นรายได้ที่ช่วยจุนเจือครอบครัวได้เป็นอย่างดี กระทั่งได้รับการส่งเสริมจากกรมส่งอุตสาหกรรมให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบที่แตกต่างไป ด้วยทักษะการจักสานเตยปาหนันชั้นครู จึงทำให้ชิ้นงานจักสานเตยปาหนันของครูอ๊ะหลงกลาง ได้รับการยอมรับในฐานะยอดฝีมือชั้นครู โดยครูอ๊ะยังได้รวบรวมสมาชิกกลุ่มจักสานเตยปาหนันในชื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรนาชุมเห็ดตะเสะ อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง สร้างสรรค์จักสานเตยปาหนันกว่า 40 รูปแบบ ทั้งผลิตภัณฑ์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน และของตกแต่งบ้าน ตกแต่งโรงแรม รีสอร์ท เช่น เสื่อกลม เสื่อเหลี่ยม กระเป๋าสะพายสตรี กระเป๋าถือสตรี กระเป๋าหิ้ว กระเป๋าสตางค์ กล่องนามบัตร กล่องของขวัญ กล่องแว่นตา กล่องใส่โทรศัพท์ หมวก แฟ้มใส่เอกสาร ที่รองจาน ที่รองแก้ว สมุดยา แจกันดอกไม้ ฯลฯ โดยได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ