กิจ คชรัตน์

ครูช่างศิลปหัตถกรรม

วันนี้พยายามให้เยาวชนรุ่นใหม่ ได้คุ้นเคยกับหนังตะลุง ผ่านการดูและสัมผัสจนชินตา เพื่อให้เห็นแนวคิด ดูให้เป็นเห็นคุณค่าพัฒนาให้ยั่งยืน เพราะเชื่อว่าเมื่อเด็กดูหนังตะลุงเป็นเขาจะเข้าถึงจิตวิญญาณของรูปหนังแต่ละตัว เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนได้

  • ครูกิจ  คชรัตน์ เริ่มต้นเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ด้านการแกะสลักหนังตะลุงตั้งแต่อายุประมาณ15  ปี โดยคลุกคลีอยู่กับมหรสพพื้นถิ่นใต้มาตั้งแต่เด็ก เติบโตมาด้วยกับรับจ้างเล่นดนตรีในงานรื่นเริงต่างๆ กระทั่งได้พบกับอาจารย์นครินทร์  ชาทอง หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ “นายหนังนครินทร์” (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง การแสดงพื้นบ้าน – หนังตะลุง)  ซึ่งอาจารย์นครินทร์ได้ชักชวนให้ครูกิจไปเป็นลูกคู่ ตีทับ ตีกลอง ตีฉิ่ง เล่นเครื่องดนตรีในการแสดงหนังตะลุง ด้วยทักษะที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงหนังตะลุงอยู่ก่อนแล้ว เมื่อร่วมแสดงกับอาจารย์นครินทร์ไปได้ระยะหนึ่ง จึงเริ่มเข้าสู่วงการแกะหนังตะลุง
  • กระทั่งครูนครินทร์ได้แนะนำให้รู้จักกับครูคลิ้ง  จันทร์ชุม นายหนังตะลุงและนักแกะหนังตะลุงมากฝีมือของยุคนั้น ครูกิจจึงปักหลักนั่งดูเรียนรู้ฝึกทำถามไถ่  จนมีความเชี่ยวชาญ เริ่มต้นจากงานทาสีตัวละคร จากรูปเบ็ดเตล็ด จนได้รับความไว้วางใจให้วาดลายและแกะตัวละครสำคัญ ด้วยกระบวนการดังกล่าวจึงทำให้ครูกิจได้เรียนรู้สั่งสมประสบการณ์จนมีความเชี่ยวชาญและพัฒนาลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ยึดถือเป็นอาชีพแกะตัวหนังตะลุงให้กับคณะนายหนังตะลุงจนถึงปัจจุบัน  ด้วยใจรักในศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านนี้เอง ครูกิจจึงเป็นผู้มีความสามารถรอบด้านเกี่ยวกับหนังตะลุง ทั้งเล่นดนตรี ทั้งการพากย์ การแกะ การเขียนเรื่องแสดง การร้อง  การเขียนบทกลอนประกอบการแสดง วันนี้ครูกิจยังมีคณะหนังตะลุงเป็นของตนเอง ในชื่อ “หนังกิจคชรัตน์” เพื่อสืบสานและเผยแพร่ศิลปะการแสดงพื้นถิ่นภาคใต้ให้ยังคงอยู่ต่อไป


ปีที่ได้รับการเชิดชูจาก sacit :
พ.ศ. 2560
เพศ :
ชาย
ประเภทผลงาน :
เครื่องหนัง
สถานะ :
มีชีวิต
แนวทางความคิด
  • หนังตะลุงถือเป็นมหรสพพื้นบ้านที่มีประวัติยาวนานมากว่า 200 ปี ในประเทศไทย โดยได้รับอิทธิพลการแสดงหนังตะลุงมาจากประเทศอินโดนีเซีย  อย่างไรก็ตามการแสดงหนังตะลุงได้ประเทศไทยได้มีการวิวัฒนาการให้มีเอกลักษณ์ ในแบบฉบับของวัฒนธรรมพื้นถิ่นภาคใต้ของไทยอย่างกลมกลืน  ตั้งแต่รูปแบบการละเล่น ตัวละคร การร้องที่สะท้อนวัฒนธรรมพื้นบ้าน เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะการแกะตัวหนังที่ได้พัฒนาให้มีความเรียบง่ายเหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อม วัตถุดิบ และศิลปะวัฒนธรรมของไทยยิ่งขึ้น โดยหนังตะลุงแต่ละตัวต้องอาศัยความมานะ พยายาม ความละเมียดละไม และความวิจิตรบรรจงอันเป็นลักษณะเฉพาะของคนไทย
  • เอกลักษณ์ที่สำคัญของตัวหนังตะลุงที่แกะโดยครูกิจ คชรัตน์ เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นตัวหนังที่งดงามพลิ้วไหว อ่อนช้อยเป็นที่ประทับใจ ด้วยสีสัน ที่โดดเด่นสะดุดตา ตลอดจนการแกะตัวหนังที่คำนึงถึงสัดส่วนเมื่อต้องนำออกแสดงบนจอผ่านแสงเงา ส่วนขาที่แกะให้ดูสั้นกว่าปกติเมื่อสาดแสงไฟเกิดเป็นเงาแล้วจะได้สัดส่วนพอดี สวยงาม บนผืนฉาก นับเป็นทักษะความชำนาญที่ช่างแกะหนังอื่นๆ ลอกเลียนแบบได้ยาก
  • ฝีมือการแกะหนังตะลุง ของนายกิจ เป็นที่ยอมรับในวงการหนังตะลุง โดยมีผลงานแกะหนังให้กับนายหนังศิลปินแห่งชาติ และนายหนังชื่อดังหลายคณะ การสร้างสรรค์ตัวหนัง นายกิจ จะมีลักษณะเด่นที่สำคัญ เช่น เพิ่มลายกนกที่เป็นศิลปะลายไทยเข้าไปเป็นส่วนประกอบของตัวหนัง เช่น ส่วนของมงกุฎ หู คอ หรือชายผ้า เพิ่มเสริมสีสันลงไปบนตัวหนัง ทำให้ภาพหนังตะลุงมีสีสันที่สวยสดใสดูแปลกตา แตกต่างจากรูปหนังตะลุงโดยทั่วไป เป็นการเพิ่มคุณค่าของตัวหนังตะลุงให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น จนเป็นที่ยอมรับของนายหนังในพื้นถิ่นใต้หลายคณะ อีกทั้งเป็นที่ยอมรับให้แกะรูปหนังตะลุงให้กับคณะนายหนัง (วายังกูลิต) ในประเทศมาเลเซียด้วย
ข้อมูลที่อยู่

สถานที่

64 เทศบาลเมืองบ้านพรุ ถ.บ้านพรุธานี ตำบลบ้านพรุ  อำเภอหาดใหญ่  จังหวัด สงขลา 90250 

ผลงานหัตถศิลป์