วิไล จิตรเวช

ครูช่างศิลปหัตถกรรม

“ผ้ายกเมืองนคร เป็นความภาคภูมิใจของเราลูกหลานคนนคร ควรที่จะอนุรักษ์สืบสานงานอันทรงคุณค่านี้ไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไป”

  • ครูวิไล  จิตรเวช เป็นคนพื้นเพอำเภอชะอวด  จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรสาวคนสุดท้องจากจำนวนทั้งหมด  8 คน เกิดในครอบครัวเกษตรกร  แม้จะมองเห็นผู้เฒ่าผู้แก่ นุ่งโสร่ง ผ้าถุงยาว และได้ยินเรื่องเล่าถึงผ้าทอของชาวนครศรีธรรมราช ที่เหลือเพียงชื่อเท่านั้น กระทั่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่บ้านเนินธัมมัง ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้มีพระราชเสาวนีย์ให้จัดตั้งโครงการศิลปาชีพบ้านเนินธัมมังขึ้น เพื่อส่งเสริมงานศิลปาชีพในพื้นที่และหมู่บ้านใกล้เคียงได้ริเริ่มจัดตั้งกลุ่มทอผ้าเพื่อเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้กับราษฎร และเพื่ออนุรักษ์งานศิลปาชีพท้องถิ่นให้คงอยู่ ต่อมาได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ก่อสร้างศาลาศิลปาชีพหลังใหม่ ในหมู่ที่ 4  บ้านตรอกแค ตำบลขอนหาด อำเภอชะอวดขึ้น เพื่อฟื้นฟูการทอผ้าพื้นเมืองในภาคใต้ที่มีลักษณะเฉพาะของภาคใต้อยู่เดิม ครูวิไลจึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540
  • ด้วยความพากเพียรและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงต้องการสร้างอาชีพให้กับพสกนิกรในพื้นที่ และทรงต้องการรื้อฟื้นผ้ายกเมืองนคร ซึ่งเป็นผ้าทอยกราชสำนักของชาวเมืองนครศรีธรรมราชมีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ได้หายสาบสูญไปกว่า 100  ปี ด้วยเป็นผ้ายกที่มีความยากในการทอที่ต้องใช้ผู้ทอมากถึง 5 คน และใช้ความพิถีพิถันยิ่งขึ้นหากใช้เส้นเงิน หรือเส้นทองมาเพิ่มความวิจิตรบรรจง  ทำให้ครูวิไล พากเพียร ฝึกฝนฝีมือการทอด้วยความวิริยะอุตสาหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรื้อฟื้นผ้าทอลายโบราณ เช่น ลายเกร็ดพิมเสน, ลายพิกุลเถื่อนดอกลอย, ลายพิกุลก้านแย่ง เป็นต้น จนสามารถพลิกแพลงพัฒนาลวดลายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น จนสมาชิกที่เข้ามาร่วมเรียนในศูนย์ศิลปาชีพรุ่นแรกสามารถทอผ้ายกเมืองนครได้อย่างชำนาญ  ผลิตผ้ายกเมืองนครได้เกินความต้องการของศูนย์ฝึกศิลปาชีพจิตรลดา ครูวิไล จึงได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค ออกมารวบรวมกลุ่มผู้ทอผ้ายกเมืองนครได้ 21 คนในชื่อกลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค ในปี พ.ศ.2545 ทอผ้ายกออกจำหน่าย ตลอดจนได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนา พัฒนากี่ทอผ้ายก ที่สามารถลดขั้นตอนการทำงานลงได้จากเดิมที่ใช้ผู้ทอถึง 5 คนให้สามารถทอได้ใน 1  คน และได้พัฒนาลายผ้ายกลายใหม่ๆ ตลอดจนรื้อฟื้นผ้ายกเมืองนครลายโบราณที่มีแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณเมืองนครศรีธรรมราชให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ปีที่ได้รับการเชิดชูจาก sacit :
พ.ศ. 2557
เพศ :
หญิง
ประเภทผลงาน :
เครื่องทอ
สถานะ :
มีชีวิต