“การเป็นช่างที่ดีต้องรู้ในคุณค่าของวัสดุ เศษเงินแม้จะเป็นเศษเล็กเศษน้อย พวกเธอต้องเก็บ มองเขาเป็นครู และเป็นวัสดุที่มีค่ามีราคาแพง ซึ่งนับวันจะหมดไป สมัยที่ครูเรียนปี 2510 เงินน้ำหนัก 1 บาท ราคาประมาณ 500-600 บาท เข้าไปแล้ว และจงคิดเสมอว่าการทำเครื่องถม ใจรักเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำบ่อยๆการเรียนรู้ไม่มีวันจบ”
ครูนิคม นกอักษร เกิดที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ชอบชมมหรสพพื้นบ้านอย่างหนังตะลุงตั้งแต่เด็ก หลงใหลในลวดลาย ของตัวหนังจดจำนำมาวาดลงกระดาษ ประกอบกับใกล้บ้านมาช่างเขียนลายไทยที่มีความชำนาญอาศัยนั่งดูครูพักลักจำ ทำให้ครูนิคมได้พัฒนาฝีมือการเขียนลายนับแต่นั้น แม้แต่ของเล่นในวัยเด็ก ครูนิคมยังมีฝีมือในการปั้นดินเหนียวขึ้นรูปเป็นวัว ควายดินเหนียว ถือว่าเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ด้านศิลปะมาตั้งแต่เยาว์วัยหลังสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ ครูนิคมเข้ามาสอบเรียนต่อระดับประโยควิชาชีพ (ปวช.)ที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ที่นั่นครูนิคมได้รู้จักกับงานเครื่องถมเมืองนครเป็นครั้งแรก ในยุคที่สาขาวิชานี้เป็นสาขาที่ทางสถาบันต้องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำเครื่องถมของเมืองนครไม่ให้สูญหาย ทว่าที่สถาบันแห่งนี้ ทำให้ครูนิคมได้เรียนรู้สรรพวิทยาทางศิลปะเกือบทุกแขนงนั่นเป็นสิ่งที่เขามีความสุขอย่างยิ่ง
หลังจบปวช. ครูนิคมสอบเข้าเรียนวิทยาลัยเพาะช่างในกรุงเทพมหานครไทย และได้รับการฝากฝังจากเจ้าอาวาสวัดมเหยงค์ให้อาศัยอยู่วัดราชบพิธระหว่างเรียนในเมืองหลวง ที่วิทยาลัยเพาะช่าง ครูนิคมได้เปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับงานช่างครั้งใหญ่ ได้รู้ จักงานโลหะทองแดง เครื่องเงิน ทองเหลือง ตลอดจนไม่ละโอกาสที่จะได้ชมนิทรรศการทางศิลปะดีๆ ที่ชอบด้วยทุกครั้งที่มีโอกาส
หลังสำเร็จการศึกษาระดับ ประโยควิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ครูนิคมได้รับการร้องขอจากครูเมือง สันธุรงค์ ให้กลับมาช่วยสอนที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช จึงกลับมาสอบบรรจุเป็นครูที่นั่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 -2541 จึงได้ลาออกจากราชการมาทำธุรกิจเปิดร้านเครื่องถม “นครหัตถกรรม” ตลอดจนเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องเครื่องถมเมืองนครให้แก่ผู้สนใจและเยาวชนรุ่นใหม่เพียงหนึ่งเดียวของ ไทยอีกด้วย