ณิษา ร้อยดวง

ครูช่างศิลปหัตถกรรม

ผ้ายกมุกมีประวัติศาสตร์มามากกว่า 200 ปี และตอนนี้กำลังจะหายไป เราจึงต้องการสืบสานงานทอผ้าชนิดนี้ไว้ ไม่ให้สูญหายไปจากพื้นถิ่นของเรา

ครูณิษา ร้อยดวง เกิดและเติบโตในชุมชนไทยวน กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมการดำรงอยู่เป็นของตัวเอง โดยชุมชนไทยวนของครูณิษาอยู่ในพื้นที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ที่แทบทุกบ้านเรือนจะมีกี่ทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน โดยครูณิษาเริ่มทอผ้ามาตั้งแต่เด็กเริ่มจากการทอผ้าที่ไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน จำพวก ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ย่าม จนกระทั่งมีความชำนาญจึงเริ่มทอผ้าสองตะกอและสี่ตะกอ และเริ่มฝึกทอผ้ายกมุกสี่เขาตามคำชักชวนของน้า เพราะเห็นว่าผู้ที่ทอผ้ายกมุกได้นั้นเริ่มมีน้อยลงไปทุกที เพื่อสืบสานภูมิปัญญาของชาติพันธุ์ไทยวนที่มักทอผ้าหลังว่างเว้นจากงานนา
เมื่อชำนาญยิ่งขึ้นจึงได้นำย่ามที่เป็นลายโบราณของยายมาเริ่มศึกษาแกะลวดลายและทดลองทอด้วยตนเอง โดยเริ่มจากการยกตะกอทีละตะกอต่อมาปรับใช้ถุงทรายในการยกแทนเพื่อความสะดวกและลดความยุ่งยากในการทอให้น้อยลง ตลอดจนแลกเปลี่ยนเทคนิคการทอกับน้าสาวที่มีความชำนาญในการทอผ้ายกมุกมาก ประกอบกับได้เรียนรู้กับอาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ผู้นำในการอนุรักษ์ผ้าทอชาวไทยวนที่ได้เข้ามาให้ความรู้ทุกด้าน จนเกิดความชำนาญสามารถทอผ้ายกมุกแบบสี่เขาได้สำเร็จ กระทั่งสามารถทอผ้ายกมุกที่มีความซับซ้อน จากแบบผ้าลายโบราณที่อาจารย์ทรงชัย นำมาเป็นตัวอย่าง ครูณิษามุ่งมั่นในการทออีกทั้งแลกเปลี่ยนกับผู้รู้ในพื้นถิ่นเกี่ยวกับเทคนิคการทอและการพัฒนาลาย จนนำมาประยุกต์วิธีการทอให้มีสีสันและลวดลายที่แตกต่างจากโบราณยิ่งขึ้น จึงนับได้ว่าครูณิษาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ลวดลายผ้าทอยกมุกแบดั้งเดิมและสืบทอดผ้าทอไทยวนที่มีมากว่า 200 ปีให้คงอยู่และกลับมาโลดแล่นในฐานะผ้าทอภูมิปัญญาไทยได้อีกครั้งหนึ่ง
ปัจจุบันแม้ครูณิษา จะย้ายมาอยู่ในพื้นที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็ยังได้นำเอากี่ทอผ้าติดตามมาและใช้เวลาว่างสร้างสรรค์ผ้าทอยกมุกที่เก่าแก่ ส่งกลับไปยังกลุ่มทอผ้ายกมุกลายโบราณบ้านต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรีอยู่เสมอ ด้วยตระหนักว่า ผ้าทอยกมุกลายโบราณนี้นับวันจะหาดูได้ยากยิ่งขึ้น

ปีที่ได้รับการเชิดชูจาก sacit :
พ.ศ. 2562
เพศ :
หญิง
ประเภทผลงาน :
เครื่องทอ
สถานะ :
มีชีวิต