วิษณุ ผดุงศิลป์

ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม

ตอนนี้ผมคือช่างทำหัวโขนแบบโบราณรุ่นที่ 3 และผมเชื่อว่าผมจะไม่ใช่รุ่นสุดท้าย

  • นายวิษณุ ผดุงศิลป์ เป็นทายาทสืบสานงานช่างทำหัวโขนตามกรรมวิธีโบราณของสกุลช่างผดุงศิลป์ เป็นชาวจังหวัดอ่างทองเป็นหลานปู่ของนายแปบ ผดุงศิลป์ ช่างทำหัวโขนโบราณตั้งแต่รัชกาลที่ 6 - รัชกาลที่ 9 เป็นหลานอาของนายสำเนียง  ผดุงศิลป์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2552 ผู้สืบทอดการทำหัวโขนมาจากรุ่นปู่ นายวิษณุจึงคลุกคลีอยู่กับการทำหัวโขนแบบโบราณตั้งแต่เด็ก หลังเรียนสำเร็จระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 นายวิษณุได้สอบเข้าเรียนในวิทยาลัยช่างศิลป์ ของกรมศิลปากรได้ ในสาขาจิตรกรรม ทำให้ได้เรียนรู้พื้นฐานการวาดลายทั้งหมด ทั้งลายไทย ลายสากล  การปั้น และวิชาการทำงานลายรดน้ำ  จากนั้นได้เข้าศึกษาในระดับประกาศนียบัตรชั้นสูงที่คณะศิลปะประจำชาติ วิทยาลัยเพาะช่าง ที่เน้นเรื่องการเขียนหัวโขนเพียงอย่างเดียว โดยได้รับการถ่ายทอดการเขียนลายหัวโขนตามแบบอยุธยา จากอาจารย์วรวินัย  หิรัญมาศ  หัวหน้าสาขาศิลปไทย ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้งานช่างฝีมือหัวโขนจาก ม.ร.ว. จรูญสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ ช่างฝีมือหัวโขนอิสระที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ  ดังนั้นศิษย์ที่จบจากสำนักเพาะช่าง จึงเป็นศิษย์ที่สืบสานงานหัวโขนราชสำนักอย่างแท้จริง
  • ระหว่างที่เรียนนั้นนายวิษณุได้เรียนรู้เกี่ยวกับขนบนิยมของการเขียนลายหัวโขนที่เคร่งขัดตามตำรับโบราณ และในระหว่างศึกษาระดับปวช.ที่วิทยาลัยช่างศิลป์นั้นมีเพื่อนที่มีญาติทำงานอยู่ที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร (ปัจจุบันคือสำนักช่างสิบหมู่) จึงให้เขาได้มีโอกาสหยิบจับ ซ่อมแซมงานจิตรกรรมหัวโขนตั้งแต่เรียนถือเป็นการเพาะบ่มความเชี่ยวชาญชำนาญโดยลำดับ
  • หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปกรรม สาขาวิชาหัตถกรรม วิทยาลัยเพาะช่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เป็นจังหวะที่ฝ่ายงานซ่อมสงวนรักษา ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ขาดคน นายวิษณุจึงเข้าเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่นั่น ซึ่งกลายเป็นสถานที่บ่มเพาะ ทักษะเชิงช่าง ในการซ่อมงานจิตรกรรม ศิลปะโบราณวัตถุที่ล้ำค่าของแผ่นดินมากขึ้น ระหว่างนั้นเขาก็สอบบรรจุเป็นครูวิชาศิลปะ รับราชการครูอยู่ระหว่างปี 2531- 2548  และในระหว่างที่เป็นอาจารย์นั้นก็ใช้เวลาว่างบางช่วงมาช่วยคุณอาสำเนียง ทำหัวโขนตามคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาต่อเนื่อง กระทั่งคุณอา อายุมากขึ้น จึงลาออกจากราชการมาทำหัวโขนเต็มตัว  เพื่อสืบต่อหัวโขนสกุลช่าง “ผดุงศิลป์” ที่มีเอกลักษณ์หัตถศิลป์ราชสำนักจนถึงปัจจุบัน
ปีที่ได้รับการเชิดชูจาก sacit :
พ.ศ. 2561
เพศ :
ชาย
ประเภทผลงาน :
เครื่องกระดาษ
สถานะ :
มีชีวิต