จำนงค์ กลับทอง

ครูศิลป์ของแผ่นดิน

งานจักสานทุกชิ้น เราต้องทำด้วยหัวใจ ทำด้วยใจรักและอดทน เพื่อรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของเราไว้

•  ครูจำนงค์เป็นชาวสิงห์บุรีโดยกำเนิด ด้วยเป็นกำพร้าตั้งแต่เล็กมีเพียงคุณแม่ ที่ดำรงชีพด้วยการเป็นช่างตัดผมด้วยกรรไกรเกี่ยวข้าว ทำให้เขาต้องใช้เวลาที่มีส่วนใหญ่ไปกับการช่วยแม่เร่ตัดผมแลกข้าวประทังชีวิต หลายคราวที่ต้องอาศัยข้าวก้นบาตรหลวงตา แลกกับการปฎิบัติวัตรฐากพระครูเจ้าอาวาส ตั้งแต่อายุได้ 6 ปี การเป็นเด็กวัด ทำให้ครูจำนงค์ใช้ชีวิตอย่างสมถะเรียบง่าย อาศัยคล่องแคล่วว่องไวจึงเป็นที่รักใคร่ของพระครูเจ้าอาวาส ในระหว่างนั้นวัดโพธ์ชัยกำลังสร้างพระนอน สร้างโบสถ์วิหารมีครูช่าง มาพักอยู่ ด้วยใจรักและคล่องแคล่วเสมอเวลาครูช่างเรียกใช้ ครูจำนงค์จึงได้เรียนรู้งานช่างสร้างโบสถ์วิหาร เริ่มตั้งแต่การรู้จักลายไทยแบบต่างๆ การออกแบบย่อส่วนย่อมุมของโบสถ์ วิหาร ซุ้มประตู ช่อฟ้า ใบระกา ด้วยการเขียนลายบนกระดาษปูนซีเมนต์ วัสดุที่หาง่ายที่สุดในยามนั้น
•  วิธีครูพักลักจำที่ครูจำนงค์ใช้นั้น ได้สร้างทักษะเชิงช่างที่เขาไม่เคยเกี่ยงงอนครูช่างที่มาใช้ชีวิตสร้างโบสถ์วิหารที่วัดโพธิ์ชัยเลยแม้แต่น้อย ดูแลบรรดาครูและลูกทีมช่างอย่างดี เตรียมอาหารที่เหลือจากข้าวก้นบาตรหลวงตาไม่ให้ขัดสน ครูจำนงค์จึงเป็นที่รักใคร่และเรียกใช้ได้ง่ายเสมอ จนในที่สุดหลังสำเร็จจากการศึกษาภาคบังคับ ครูจำนงค์ตัดสินใจรับงานเหมาสร้างโบสถ์ วิหาร เมรุ กุฏิพระ เป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัวตลอดมา นับเป็นช่างรับเหมาสร้างวัดที่อายุน้อยที่สุดเพราะอายุที่เป็นหัวหน้าช่างรับเหมานั้นนับได้เพียง 18 ปี
•  แต่หลังประสบอุบัติเหตุตกต้นไม้จนไม่สามารถทำงานหนักได้ ชีวิตของครูพบจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ไม่สามารถรับงานเหมาก่อสร้างได้อีก แต่มีภาระที่ต้องดูแลครอบครัว จังหวะดีที่ได้กลับมาอยู่บ้าน แม่ของภรรยามีอาชีพจักสานไม้ไผ่-หวายแบบดั้งเดิมอยู่ จึงคิดออกแบบตะกร้าในรูปแบบที่ต่างออกไปจากเดิม ที่มักเป็นตะกร้าใส่บาตร ตะกร้า ผลไม้ กระจาดที่รูปแบบและลวดลายเดิม ๆ
•  ครูจำนงค์ประยุกต์ความรู้เชิงช่างจำลองสานตะกร้าทรงหกเหลี่ยมลายวิจิตร แทรกด้วยลายไทยที่เขามีความถนัดออกมาเป็นใบแรกและสามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าตะกร้าแบบเดิม ทำให้เขามีกำลังใจในการพัฒนารูปทรงตะกร้าและนำลายไทยโบราณที่ถนัดจากงานช่างมาประยุกต์ใช้ พร้อมๆกับการนำความรู้เชิงช่างมาจำลองหุ่นแบบจากไม้สักเพื่อเป็นหุ่นรองแบบให้มีรูปทรงที่แตกต่างกัน และสามารถสร้างมาตรฐานการทอให้มีความสม่ำเสมอ ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้น สำเร็จกลายเป็นกลุ่มจักสานบ้านปากคลองบางกระเพียง ที่จักสานไม้ไผ่-หวายในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ มีความละเอียดประณีต หลายรูปแบบ จนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มจักสานได้สำเร็จ

ปีที่ได้รับการเชิดชูจาก sacit :
พ.ศ. 2557
เพศ :
ชาย
ประเภทผลงาน :
เครื่องจักสาน
สถานะ :
เสียชีวิต
เว็บไซต์แบรนด์/ชุมชน - เพจชุมขน/ส่วนตัว :