นิทัศน์ จันทร

ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม

ตั้งใจสอนทุกอย่างเต็มร้อย ส่งต่อทุกองค์ความรู้ เพื่อรักษาอัตลักษณ์ผ้าทอลาวครั่งให้ร่วมสมัย

  • นายนิทัศน์เป็นคนไทกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานอยู่ในเมืองภูครัง หรือภูคัง รวมกับเมืองหลวงพระบาง และเมืองเวียงจันทน์ หัวเมืองลาวฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงที่ถูกกวาดต้อนให้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในสยามหรือประเทศไทย อันเป็นผลสืบเนื่องจากการทำศึกสงครามระหว่างสยามกับล้านช้างในสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์  โดยมีชาวลาวครั่ง ส่วนหนึ่งมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่บ้านภูจวง ต.ทับหลวง  อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี  พร้อมกับทักษะการทอผ้าเป็นเหมือนภูมิปัญญาบรรพบุรุษของหญิงสาวชาวลาวครั่ง ที่มักทอผ้าไว้ใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน และการทอผ้าเพื่อใช้ในพิธีกรรมตามคดิความเชื่อดั้งเดิมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อดวงวิญญาณ พิธีกรรมเกี่ยวกับการเกิด  การตาย และประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ของชาวลาวครั่ง
  • การเติบโตท่ามกลางบริบทวัฒนธรรมพื้นบ้าน ที่ทุกบ้านต้องมีกี่ทอผ้า เพี่ยนกรอหลอด กงปั่นฝ้ายล้วนเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้นายนิทัศน์ดูเหมือนจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิถีผ้าทอของชาว ลาวครั่ง อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก  จุดเปลี่ยนสำคัญคือได้เป็นตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง ในพื้นที่ อ.บ้านไร่ นำผ้าทอของกลุ่มเข้าร่วมแสดงในงานนิทรรศการผ้าฝ้ายแกมไหมที่รวบรวมผ้าทอพื้นบ้านของ 17 จังหวัดภาคเหนือ   ที่มีผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วมแสดง ซึ่งครั้งนั้นนายนิทัศน์เดินทางไปเป็นเพื่อนพี่สาวนำเอาผ้าทอของกลุ่ม ลาวเวียง ลาวครั่งของ 3 หมู่บ้านร่วมงาน ทั้งที่มีงานผ้าทอของหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่ร่วมแสดง แต่ชิ้นผ้าทอของกลุ่มกลับขายได้ในราคารวมถึงสองแสนบาท
  • รายได้ครั้งนั้นทำให้ครูนายนิทัศน์ในวัย 20 ปี มองเห็นทางออกของจากความแร้นแค้นของชาวชุมชนที่มักพึ่งพารายได้จากอาชีพเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวคงไม่ใช่คำตอบ นายนิทัศน์จึงเริ่มต้นแสวงหาความรู้เกี่ยวกับผ้าทอโบราณ ลายผ้าทอพื้นบ้านจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน รวมถึงเข้าร่วมการประชุมสัมมนากับศูนย์วิชาการและเทคโนโลยี สิ่งทอพื้นบ้าน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะมีการจัดอบรม หลักสูตรระยะสั้น สำหรับกลุ่มผ้าทอพื้นบ้าน เพื่อส่งเสริมสิ่งทอพื้นบ้าน รวมถึงเปิดเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังคงมีการทอผ้าในครัวเรือน  ตลอดจนการรวบรวมองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาสิ่งทอพื้นบ้านไปสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
  • จนกระทั่งนายนิทัศน์ได้เปลี่ยนสถานะจากผู้เข้ารับการอบรมจนกลายเป็นวิทยากรผู้ให้ความรู้คนสำคัญของศูนย์วิชาการและเทคโนโลยีสิ่งทอพื้นบ้านฯ  ศูนย์หม่อนไหม เขต 5 ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเทคนิคการย้อมสีธรรมชาติด้วยพืชพื้นถิ่นที่ให้สีคงทนไม่ซีดจาง


ปีที่ได้รับการเชิดชูจาก sacit :
พ.ศ. 2561
เพศ :
ชาย
ประเภทผลงาน :
เครื่องทอ
สถานะ :
มีชีวิต