เรามาทำงานด้านนี้ เราต้องยึดแบบของไทยโบราณ เป็นครูต้องมานะ ต้องขยัน ซื่อสัตย์ อดทน
ครูวิรัตน์ เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี หลังเป็นกำพร้าแม่ ไม่ได้ติดตามครอบครัวใหม่ของพ่อไป ในวัย 7 ขวบ อาศัยข้าวก้นบาตรหลวงปู่วัดสวนหงส์ บางปลาม้า ร่ำเรียนจนสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าทำงานเป็นพนักงานของกรมเจ้าท่า มีหน้าที่เก็บค่าธรรมเนียมเรือขึ้นล่องค้าขายที่เข้ามาในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ที่นั่นครูวิรัตน์ได้เจอกับแม่ค้าคนเก่งที่ล่องเรือเอาสินค้าจำพวก ผลหมากรากไม้ มะพร้าวน้ำหอม จากร่องสวนย่านอัมพวามาค้าขายในพื้นสุพรรณบุรี ที่สุดแล้วเธอคือคู่ชีวิตของครูวิรัตน์ในที่สุด หลังจากมี พรบ.ครูใหม่ ออกมาให้เงินเดือนครูเริ่มต้นที่ 3,030 บาทจึงได้สอบบรรจุครู ทำหน้าที่ครูอยู่จนกระทั่งตัดสินใจลาออก ไปใช้ชีวิตพ่อค้าร่วมชีวิตกับแม่ค้าคนสวยชาวอัมพวาขึ้นล่องค้าขายตลอดลุ่มน้ำเจ้าพระยา
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อครูวิรัตน์ได้ทำมีโอกาสทำหน้าที่เป็นคนนำทางพ่อค้าของเก่าเข้าไปหาของถ้วยโถโอชามเก่าของชาวอัมพวา ตลอดจนย่านดำเนินสะดวก มองเห็นการจับของเก่าราคาหลักร้อย ไปขายต่อในราคาที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว แม้ถ้วยโถโอชามที่ได้จะเก่าเก็บหรือร้าวบิ่นแต่เมื่อซ่อมแซมให้ดูดีดังเดิมแล้วสนนราคาก็ยังสูงริบริ่ว นั่นจึงจุดประกายความคิดให้กับพ่อค้าเรือเร่หันมาสนอกสนใจงานของเก่าที่ชื่อว่า “เบญจรงค์” ครูวิรัตน์เริ่มต้นแสวงหาองค์ความรู้เกี่ยวกับการซ่อมแซมเบญจรงค์ของเก่าให้อวดความสวยงามได้ดังเดิม ควบคู่ไปกับการศึกษาลายไทยโบราณ และหันมาเป็นพ่อค้าของเก่าจริงจังแทนการเร่เรือขึ้น-ล่องขายของปักหลักหนักแน่นที่ท้องสนามหลวง ทุกเสาร์-อาทิตย์ แม้การรับซ่อมเพื่อนำไปขายต่อจะสร้างรายได้ในระดับที่น่าพอใจ แต่เพราะฝีมือการซ่อมของเก่าให้ดีดังเดิมของครูวิรัตน์ ได้สร้างชื่อเสียงในหมู่นักอนุรักษ์ของเก่าปากต่อปาก ต่างนำของเก่าโบราณที่สะสมไว้ ออกมาให้ครูวิรัตน์ซ่อมแซมเป็นโอกาสให้เขาได้มองเห็นลวดลายไทยเก่าแก่ของเบญจรงค์ตั้งแต่ยุคปลายอยุธยา ต่อรัตนโกสินทร์ หรือบางลวดลายที่เกือบสูญหายไปให้กลับมาสวยงามวิจิตรอ่อนช้อยดังเดิม ที่สุดเพื่อให้มีความรู้ความชำนาญในการทำเครื่องปั้นดินเผาให้แตกฉานยิ่งขึ้น
ในปี พ.ศ. 2530 แม้ว่าครูวิรัตน์จะอายุ 50 ปีแล้ว แต่ได้เข้าเรียนทำเครื่องปั้นดินเผาร่วมกับเด็กมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ศูนย์วิจัยของกรมวิทยาศาสตร์ กระทั่งผลิตภัณฑ์ของปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ทั้งเทคนิคการขึ้นเครื่องขาว เทคนิคของสีที่ใช้ จนชื่อเสียงของปิ่นสุวรรณเบญจรงค์เป็นที่รู้จักทั้งในหมู่ผู้นิยมเครื่องเบญจรงค์ทั้งในและต่างประเทศ และในปี 2534 ครูวิรัตน์ยังได้รับโล่ของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศเชิดชูให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมภาคกลางตอนล่าง สาขาศิลปะ การช่างศิลปะ ช่างฝีมือ จังหวัดสมุทรสงครามอีกด้วย