สุดใจ เจริญสุข

ครูช่างศิลปหัตถกรรม

“ทุกชิ้นงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้น มีความสุขและต้องการให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้   เหมือนโรงเรียนชีวิตอย่างที่เราเองได้เห็นและมีความสุขในวัยเด็ก”



ครูสุดใจ เจริญสุข เป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้ามาอาศัยอยู่กับคุณปู่ในกรุงเทพมหานครตั้งแต่เยาว์วัย  และได้รับการถ่ายทอดการปั้นมาจาก คุณปู่ - ทรงประเวศ สุวรรณนิล ช่างปั้นพระพุทธรูปเลื่องชื่อ และชื่นชอบงานปั้นโดยเฉพาะการจำลองของจริงเป็นงานดินเผาสร้างสรรค์ออกจำหน่ายที่ท้องสนามหลวงและส่งให้กับร้านผดุงชีพย่านบางลำพู และตลาดน้อย  ครูสุดใจจึงซึมซับงานปั้นดินเป็นลูกมือคุณปู่ตั้งแต่อายุได้ 5 ปี กระทั่งผลงานตุ๊กตาปั้นจิ๋วของปู่ทรงประเวศ ได้รับพระราชทานโล่   ที่ระลึกผลงานช่างดีเด่น จากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลเชมหาราช บรมนาถบพิตร  และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปเป็นครูพิเศษสอนที่ศูนย์ฝึกศิลปาชีพในสวนจิตรลดา ครูสุดใจจึงย้ายกลับไปอยู่กับครอบครัวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


ในปี พ.ศ.2518 ครูสุดใจอายุ 15 ปี เริ่มต้นงานตุ๊กตาปั้นจิ๋วจริงจัง เพราะมองเห็นช่องทางว่าสามารถยึดเป็นอาชีพได้ โดยปั้นชิ้นงานเข้ามาจำหน่ายที่ท้องสนามหลวง ในยุคที่สนามหลวงคือตลาดงานฝีมือขนาดใหญ่ของชาวพระนคร เมื่อวันเวลาผ่านไปจากการทำเพื่อเลี้ยงชีพ  เธอมองเห็นว่าวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของไทยเริ่มเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน  ความคิดของครูสุดใจจึงต้องการจำลอง ขนบ ธรรมเนียม จารีต วัฒนธรรม วิถีชีวิตพื้นบ้านของไทยเหล่านี้ให้ดำรงอยู่ เพื่อจำลองไว้ให้ลูกหลานได้จดจำรากความเป็นไทยไว้ผ่านตุ๊กตาดินเผาจิ๋ว ที่ตุ๊กตาแต่ละตัว จะแสดงการดำเนินชีวิตแบบไทยๆในชนบท และการละเล่นพื้นบ้าน การเล่นของคนในชนบท เช่น เด็กตีวงล้อ ขี่ม้าก้านกล้วย เดินกะลา เล่นมอญซ่อนผ้า เล่นไม้หึ่ง เป็นต้น และแสดงการดำเนินชีวิตของคนในชนบท เช่น การทำนา เกี่ยวข้าว สีข้าว ตลอดจนการค้าขาย ตลาดแผงลอย หาบแร่ ตลาดน้ำ เรือขายสินค้า และวัฒนธรรม ประเพณีทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่  โดยได้สร้างสรรค์ผลงานตุ๊กตาจิ๋วไว้มากกว่า 100 ชุด เพื่อจำลองความทรงจำแบบ 3 มิติไว้ให้อยู่คู่กับนักอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยไว้อีกแขนงหนึ่งนั่นเอง
ปีที่ได้รับการเชิดชูจาก sacit :
พ.ศ. 2559
เพศ :
หญิง
ประเภทผลงาน :
เครื่องดิน
สถานะ :
มีชีวิต