นิพนธ์ ยอดคำปัน

ครูช่างศิลปหัตถกรรม

ในฐานะศิลปินอยากส่งต่อความเป็นอารยะของวัฒนธรรมไทยให้ลูกหลาน อนุรักษ์ และต่อยอด

•  ครูนิพนธ์ เป็นบุตรคนที่ 4 จากพี่น้อง 6 ของครอบครัวเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดลำปาง ตั้งแต่บวชสามเณรหน้าไฟอายุ 15 ปีก็ไม่ได้ลาสิกขา ด้วยเหตุว่า ระหว่างที่บวชเข้าไปนั้น วัดวังหม้อที่จำพรรษากำลังมีงานบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ สามเณรน้อยนิพนธ์จึงใช้เวลาระหว่างนั้นเรียนรู้งานจิตรกรรม ช่างปั้น ช่างแกะช่างแทงหยวก กระทั่งได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบงานด้านศิลปวัฒนธรรมของวัดไปจนถึงงานใหญ่ระดับจังหวัดลำปางเรื่อยมา จนผู้คนในละแวกนั้น เรียกขานครูนิพนธ์ระหว่างบวชอยู่นั้นว่า “สล่า” ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญงานช่างที่เขาเองนั้นมีความชำนาญทั้งงานแทงหยวกกล้วย, ตัดกระดาษ,ตอกกระดาษ หรือกระทั่งการปั้นปูนสด
•  ระยะเวลา 7 ปีในฐานะ “สล่า” พระลูกวัดวังหม้อ ได้สร้างศรัทธาบารมีให้กับครูนิพนธ์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญงานศิลปะแก่บรรดาญาติโยม ในขณะเดียวกันก็ได้ร่ำเรียนควบคู่ไปจนสำเร็จการศึกษาเทียบเท่าระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้เห็นข้อความประชาสัมพันธ์รับสมัครนักเรียนของวิทยาลัยในวังชาย ที่อธิบายหลักสูตรว่ามีหลักสูตรการเรียนเกี่ยวกับงานจิตรกรรมที่แตกต่างไปจากงานจิตรกรรมของล้านนา ครูนิพนธ์จึงตัดสินใจลาสิกขาเพื่อไปสมัครเรียนและสอบเข้าเป็นนักเรียนสาขาจิตรกรรมรุ่นที่ 6 ของวิทยาลัยในวังชาย
•  ที่วิทยาลัยในวังชายครูนิพนธ์กลายเป็นนักเรียนที่ทำงานหนักกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน เพราะต้องมาอาศัยเป็นเด็กวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ตามคำฝากฝังของเจ้าอาวาสวัดปากหม้อ อาศัยอยู่วัดฝั่งตรงข้ามโรงเรียน ที่ต้องข้ามมาเรียนฝั่งวัง แม้ต้องเรียนให้หนักกว่าเพื่อนเพื่อให้รู้หลักการพื้นฐานของงานวาดสมัยใหม่เพิ่มขึ้น กลับยิ่งทำให้ครูนิพนธ์สนุกกับการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด ระหว่างมีเวลาว่างยังวาดรูปส่งแกลลอรี่หาเงินส่งตัวเองเรียน หลังเรียนจบได้รับคำแนะนำจากครูผู้สอนให้เรียนช่างทอง ซึ่งเป็นกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง ที่จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
•  ครูนิพนธ์เข้าเป็นนักเรียนรุ่นแรก ด้วยมองเห็นว่าที่นี่เขาจะสามารถเรียนรู้การทำงานหัตถศิลป์ที่มีมิติสวยงามและใช้ทักษะเชิงช่างสูงกว่างานจิตรกรรมที่เขาชอบ ที่นั่นครูนิพนธ์ได้เรียนรู้เทคนิคทักษะเชิงช่างชั้นสูงของสกุลช่างทองของไทย ที่มีความวิจิตร งดงาม เป็นภูมิปัญญาที่ล้ำค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกอย่างของการก่อตั้งกาญจนาภิเษกวิทยาลัย คือ ต้องการสร้างบุคลากรถวายงานเจ้านาย เป็น “ช่างทองหลวง” ที่นับวันจะเหลือน้อยลงไปทุกที นักเรียนเหล่านี้จะได้ช่วยซ่อมแซม บำรุงรักษา จนกระทั่งนักเรียนที่สำเร็จการศึกษามารุ่นแรกได้เข้าถวายงานในวังทั้งหมด จึงเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ครูนิพนธ์ได้เห็นถึงมรดกวัฒนธรรมสกุลช่างทองราชสำนักหลากหลายรูปแบบ นั่นเป็นความสุขที่ท้าทายสำหรับเขาอย่างยิ่ง
•  ในระหว่างที่เรียน ครูนิพนธ์ได้เปิดร้านขายเครื่องเงินที่สวนลุมไนท์บาร์ซ่า ถึงแม้ว่าไม่ค่อยมีเวลาดูแลเต็มเม็ดเต็มหน่วยแต่กลับเป็นความสุขที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์มุมมองความนิยมงานเครื่องประดับของสมัยนิยม นำมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการดีไซน์งานของตน ในขณะเดียวกันครูนิพนธ์ก็เป็นศิษย์ก้นกุฏิที่ได้รวบรวมและแยกแยะสกุลช่างทองของไทยให้เป็นหมวดหมู่และบัญญัติเรียกให้ถูกต้องตามเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของงานช่างทองให้กับหลักสูตรกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาช่างทองหลวง สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เขาได้รับหน้าที่ในตำแหน่ง “ช่างทองหลวง” ประจำสำนักพระราชวังตลอดระยะเวลา 15 ปี และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการผลิตบุคคลากรของกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง ต่อเนื่อง จนปัจจุบันหลังถวายบังคมทูลลา ได้ออกมาเปิดร้าน “กรุช่างทองโบราณ” เพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม งานสกุลช่างทองโบราณของไทยในรูปแบบร่วมสมัย จนเป็นที่ยอมรับในทักษะเชิงช่างราชสำนักทั้งในและต่างประเทศ

ปีที่ได้รับการเชิดชูจาก sacit :
พ.ศ. 2555
เพศ :
ชาย
ประเภทผลงาน :
เครื่องโลหะ
สถานะ :
มีชีวิต
เว็บไซต์แบรนด์/ชุมชน - เพจชุมขน/ส่วนตัว :