งานเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดเป็นงานที่ต้องอาศัยความรัก และความเพียรในการสร้างสรรค์ชิ้นงานให้คงคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์
ครูศรีเมือง ทรรทุรานนท์ เกิดและเติบโตในพื้นที่เกาะเกร็ด ชุมชนดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์มอญที่นับเนื่องการตั้งถิ่นฐานได้ตั้งแต่ครั้งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกวาดต้อนมาสร้างบ้านแปลงเมืองกว่า 200 ปี ที่ได้นำองค์ความรู้และภูมิปัญญาการทำเครื่องปั้นดินเผาสำหรับใช้ในครัวเรือนติดตามมาด้วย โดยครอบครัวของครูศรีเมืองได้ดำเนินกิจการทำโรงงานเครื่องปั้นดินเผามาต่อเนื่อง มีสินค้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ในบ้าน โอ่ง อ่าง กระถางต้นไม้ ครก ที่นำสินค้าขึ้นล่องลงเรือไปขายแลกเป็นสินค้าตลอดลุ่มเจ้าพระยามานานนับกว่า 60 ปี
กระทั่งครูศรีเมืองถือเป็นรุ่นที่ 4 มารับช่วงทำกิจการโรงงานเครื่องปั้นดินเผาเลี้ยงครอบครัว จวบจนวันที่ความนิยมในเครื่องปั้นดินเผาจำพวกโอ่ง อ่าง กระถาง ค่อยๆห่างออกไปจากกิจวัตรของผู้คน ขาดทายาทมารับช่วงต่อ ครูศรีเมืองจึงต้องปิดกิจการโรงงานเครื่องปั้นดินเผาลง แต่ด้วยใจรักและความผูกพันที่มีต่องานปั้น ครูศรีเมืองยังคงพัฒนางานเครื่องปั้นดินเผาแบบเดิมควบคู่กับการเขียนลวดลายไทยที่ได้จำลองงานหน้าบันโบสถ์ วิหาร ซุ้มประตูโบสถ์ มาสลักเสลาบนงานดินเผา ในชื่อ “เครื่องปั้นดินเผาลายวิจิตร” โดยอาศัยเครื่องมือที่ได้ประยุกต์จากสิ่งใกล้ตัว อาทิ สายไวโอลินที่ขาด ใบเลื่อย เสาอากาศทีวี ผสมผสานกับทักษะเชิงช่างเฉพาะตัว ความพลิ้วไหวของลายแกะสลักอันละเอียดอ่อน จังหวะการกด การควักเนื้อดินที่พอเหมาะ จนเกิดเป็นงานที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ วิจิตร บรรจง เป็นที่ยอมรับว่าเป็นงานเครื่องปั้นดินเผาวิจิตร จากเนื้อดินธรรมชาติชนิดไม่เคลือบ เพียงหนึ่งเดียวของไทย