เพียรทำด้วยใจรัก เพื่อตระหนักวันสูญสิ้น ฝากไว้ในแผ่นดิน เป็นทรัพย์สินแห่งปัญญา
ครูประนอม ทาแปง เป็นบุตรคนที่ 2 จากจำนวนทั้งหมด 4 คน มีพี่ชาย 1 คน และน้องชาย 2 คน ของ พ่อพัน - แม่แก้วมูล ทาแปง แม่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ ไทยวน (โยนกเชียงแสน) ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในพื้นที่บ้านนามน ตำบลหัวทุ่ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ สิ่งที่มีติดตัวแม่หญิงไทยวนคือวัฒนธรรมการทอผ้าซิ่นเอาไว้ใช้เอง หลังจากว่างเว้นจากการ ทำไร่ ทำนา ก็จะมีกิจกรรมการปลูกฝ้าย ปั่นฝ้ายทอผ้า เช่นเดียวกับลูกสาวคนเดียวของบ้านทาแปง ที่เริ่มทอผ้าเองหลังจากเป็นลูกมือแม่ตั้งแต่เล็ก เมื่อมีอายุได้เพียง 12 ปี ที่สำคัญยังได้รับการถ่ายทอดจากยอดฝีมือการทอผ้าจกเมืองลองอย่าง นางบุญยวง อุปถัมภ์ พี่สาวของพ่อ ซึ่งได้รับการยอมรับในชุมชนว่าเป็น 1 ใน 2 ยอดฝีมือผู้ทอผ้าซิ่นตีนจกแบบโบราณของเมืองลองที่ยังรักษาขนบการทอลายดั้งเดิมไว้ อาทิ ลายหงส์ ลายขอกุญแจ ได้อย่างวิจิตร
ครูประนอมจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านไผ่ล้อม ปัจจุบันคือโรงเรียนนามนวิทยาคาร ด้วยปัญหาสุขภาพ และความขัดสน อีกทั้งต้องเดินทางเข้าไปเรียนไกลถึงตัวจังหวัด เป็นอุปสรรคสำคัญในการศึกษาต่อ เธอจึงจำต้องออกมาทำงานเช่นเดียวกับแม่หญิงชาวไทยวน พื้นบ้านอื่นๆ คือทำไร่ ทำนา ปั่นฝ้าย ทอผ้า ควบคู่ไปกับการลงเรียน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือกศน. สอบเทียบจนสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา และยังได้มานะพากเพียรเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ศิลปะศาสตร์บัณฑิต สาขาพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ เมื่ออายุครูประนอมได้ 45 ปีเข้าไปแล้ว
ทว่าในห้วงที่เรียน กศน.นั้น ด้วยความใฝ่รู้เธอเรียนรู้การทอผ้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น นอกเหนือจากการทอผ้าซิ่นริ้วธรรมดา อาศัยช่วงครูพักลักจำที่ป้าบุญยวงทอค้างไว้บนกี่ สังเกตดูลายและวิธีการทอ เมื่อป้าไปทำธุระทิ้งกี่ที่ทอค้างไว้ ก็จะขึ้นนั่งทอแทนที่ ยิ่งในช่วงหน้าหนาว ป้าต้องไปอาบน้ำตั้งแต่บ่ายคล้อยทำให้เด็กหญิงมีเวลานั่งทอบนกี่นานขึ้น เมื่อทอได้มากน้อยอย่างไรแล้ว หากป้ามาเห็นก็ถามไถ่ความถูกต้อง จนกระทั่งครูประนอมทอผ้าได้มากกว่าผ้าซิ่นริ้วธรรมดา เป็นผ้าห่ม ผ้าต่วนเสื้อ จนถึงผ้าซิ่นจก ที่ต้องอาศัยความชำนาญ ความอดทนอย่างยิ่งกว่าผ้าทอทั่วไป
ผ้าซิ่นตีนจกผืนแรกที่ใช้เวลาทอแรมเดือน เมื่อนำเข้าไปขายในเมืองรวมกับผ้าซิ่นทออื่นๆ ค่าแรงที่ได้ 160 บาทต่อผืน เมื่อปี 2519 ทำให้สาวน้อยดีใจหายเหนื่อย ไม่ลดละความเพียรจนสามารถทอผ้าจก ได้ในแบบและลวดลายที่ยากขึ้น ซึ่งผ้าซิ่นตีนจกถือเป็นผ้าชั้นสูงที่มีไว้สำหรับชั้นเจ้าเมืองหรือผู้มีฐานะจะสวมใส่ ที่สุดจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงที่เธออายุได้ 22 ปี หลังพยายามทอผ้าซิ่นตีนจกอย่างโบราณไว้ หลายลาย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีโครงการลูกเสือชาวบ้านเข้ามาอบรมในพื้นที่บ้านนามน เธอสมัครเข้าเป็นลูกเสือชาวบ้าน กระทั่งฝึกจบจะมีพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้านประจำจังหวัดแพร่ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครูประนอมจึงได้มีโอกาสนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายผ้าซิ่นตีนจกที่ทอเอง ทรงมีรับสั่งชื่นชมถึงความงามแปลกตาของผ้าซิ่นตีนจกเมืองลอง และรับสั่งว่ายังมีลวดลายสวยๆ อีกมากอยากให้รวบรวมกลุ่มสตรีทอผ้าที่เมืองลองได้เรียนรู้สืบทอด
หลังจากนำผ้าตีนจกขึ้นทูลเกล้าฯถวาย แล้วราว 15 วัน ได้มีคณะผู้แทนในพระองค์เดินทางมาที่บ้านเธอ เพื่อแจ้งให้ทราบว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงสนพระทัยและมีความประสงค์จะส่งเสริมให้ชาวบ้านทอผ้าตีนจกให้มากขึ้น โดยคณะผู้แทนพระองค์ได้กรุณามอบทุนดำเนินการให้ ครูประนอมและป้าบุญยวงรวบรวมกลุ่มสตรีทอผ้าผ้าซิ่นตีนจกขึ้นชื่อว่า “กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านนามน” ด้วยเงินทุนเริ่มต้นสำหรับจัดซื้อวัตถุดิบในการทอ 2,000 บาท จากกลุ่มสตรีในบ้านนามน จำนวน 15 คน เริ่มรวบรวมจากกลุ่มคนที่ยังคงทอผ้าใต้ถุนเรือน ครอบครัวที่ได้รับการส่งต่อเทคนิควิธีการทอผ้าแบบดั้งเดิม จนถึงวัดวาอาราม และตระกูลที่ได้รวบรวมลายผ้าซิ่นตีนจกเมืองลองเก่าแก่ที่ส่งต่อจากบรรพบุรุษ จนความรู้เหล่านี้ได้แตกฉาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในกลุ่มให้ครูประนอมได้รู้จัก และมองเห็นผ้าทอตีนจกลวดลายโบราณที่ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กว่า 100 ลวดลาย จนความรู้ของกลุ่มสตรีทอผ้าซิ่นตีนจกเมืองลองได้พัฒนาแพร่หลาย มากขึ้น
นอกจากนี้ครูประนอมยังได้รับเลือกให้เป็นนักเรียนศิลปาชีพ ฝึกอบรมเพิ่มเติมที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ถึง 3 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2527 , 2529 และ 2531 ตามลำดับ ที่นั่นเธอได้ฝึกฝนเรียนรู้เทคนิควิธีการทอลวดลาย เทคนิคการย้อม การเตรียมเส้นไหม เส้นฝ้าย ตลอดจนแนวคิดการพัฒนาเฉดสีย้อมธรรมชาติที่ตลาดนิยม รวมไปถึงการเรียนทอผ้าไหมเมื่อ ฝีมือการทอผ้าฝ้ายได้คล่องแคล่วพลิกแพลง ออกแบบได้อย่างชำนาญ ในช่วงนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จฯ แปรพระราชฐานมาที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ที่เชียงใหม่เนืองๆ ได้พระราชทานโอกาสให้ครูประนอมได้เรียนรู้งานผ้าไหม ซึ่งถือเป็นงานละเอียดอ่อนกว่างานฝ้ายและต้องอาศัยความเชี่ยวชาญชำนาญกว่ามาก เธอได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนตั้งแต่การสาวไหมจากรังให้เป็นเส้นไหม นำมาฟอก ต้ม ด้วยการใช้ด่างธรรมชาติ เช่น น้ำจากขี้เถ้า เพื่อให้เส้นไหมนิ่ม แล้วจึงนำมาตีเกลียวเพื่อให้เส้นเหนียวขึ้น ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการย้อมจนสามารถนำไปเตรียมเป็นเส้นด้ายในการทอให้เป็นผืนผ้าไหมเงางาม
องค์ความรู้ที่ได้รับจากการเป็นนักเรียนศิลปาชีพนี้ ด้วยเป็นผู้ใฝ่รู้และพัฒนาตนเองเสมอ อีกทั้งยังยึดมั่นในรับสั่งแรก ของสมเด็จฯ พระพันปีหลวง ที่ทรงมอบหมายให้ครูประนอมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มทอผ้าฯ ในระหว่างที่ยังเป็นนักเรียนศิลปาชีพนั้น เธอยังมองเห็นว่าผ้าทอยกดอกเมืองลำพูน มีปริมาณผ้าทอที่ส่งกลับมายังศูนย์ศิลปาชีพมากเกินพอ แม้จะใช้เวลาการทอใกล้เคียงกันกับกลุ่มทอผ้าของเธอ ครูประนอมจึงเกิดความคิดว่าหากสามารถคิดวิธีการทอผ้าจกได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ผู้ทอจะทอผ้าซิ่นตีนจกได้มากขึ้น จะยิ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มทอผ้าของเธอได้มากตามไปด้วย เธอจึงคิดค้นวิธีการทอผ้าซิ่นตีนจกแบบยกเขาหรือเขาฟืมขึ้น ช่วยลดขั้นตอนการจกลายทีละเส้นให้สามารถเก็บลายด้วยการยกเขาหรือเขาฟืมในคราวเดียว ช่วยย่นระยะเวลาการทอลงได้มากกว่าเดิมถึง 5 เท่า แล้วแต่ความชำนาญของช่างทอ จากนั้นได้นำมาถ่ายทอดให้ป้าบุญยวงเผยแพร่การทอในกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านนามน ช่วยพัฒนานำเอาลายโบราณออกแบบผสมผสานผูกให้เกิดลวดลายใหม่ๆ ขึ้นมากมาย ตามความนิยมของยุคสมัยกว่า 100 ลวดลาย และยังยกระดับการทอผ้าซิ่นตีนจกของเมืองลองให้ได้รับความนิยมโดยลำดับ
จากการทำงานด้านอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมสิ่งทอกว่า 57 ปี ครูประนอมได้รวมตัวจัดตั้งกลุ่มทอผ้าอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะผ้าทอตีนจก รวมถึงจัดตั้งกลุ่มสตรีสหกรณ์ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ โดยมีสมาชิกถึง 400 คนและมีเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกันทั่วทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ ครูประนอมยังทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือแนะนำให้ความรู้แก่สมาชิกในเครือข่ายกลุ่มของสหกรณ์มาโดยตลอด กระทั่งในปี 2553 ครูประนอมได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะผ้าทอ) เธอจึงนับเป็นศิลปินของแผ่นดินที่ยังประโยชน์ให้กับกลุ่มทอผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ของภาคเหนืออย่างแท้จริง