ปิยะ สุวรรณพฤกษ์

ครูช่างศิลปหัตถกรรม

นายปิยะ สุวรรณพฤกษ์ หรือ ครูปิยะ เป็นคนจังหวัดยะลาโดยกำเนิด เป็นผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะ เป็นนักออกแบบงานไม้ แต่ก็ชอบเรื่องงานผ้าด้วย ในเวลาออกแบบลายไม้ก็ออกแบบลายผ้าผสมเข้าไปด้วย เมื่อได้เห็นงานผ้าโบราณในวิถีของคนใต้ก็รู้สึกว่าต้องหาเอกลักษณ์ของลวดลาย จึงมักใช้เวลาว่างดูงานศิลปะตามสถานที่ต่าง ๆ ในพื้นที่ ทั้งมัสยิด สถานที่ท่องเที่ยว วัด วังเก่า สังเกตลวดลายที่เกิดจากการแกะสลักไม่ว่าจะเป็นช่องหน้าต่าง ช่องลม ลายฉลุข้างราวบันได งานศิลปะเหล่านี้ นายปิยะนำมาเป็นไอเดียออกแบบลวดลายผืนผ้า จนกระทั่งวันหนึ่งมีโอกาสได้พบเห็นภาพผ้าไหมชนิดหนึ่งที่มีลักษณะลวดลายคล้ายลายช่องหน้าต่าง ลายช่องลม รวมถึงลายจากสถานที่ต่าง ๆ ที่เคยพบเห็น โดยมีการใช้ชื่อเรียกผ้าชนิดนี้ว่า “ผ้าปะลางิง” นายปิยะจึงมีความสนใจเพิ่มมากขึ้นอีก จึงใช้เวลากว่า 7 ปี ในการศึกษาเรื่องราวการทำผ้าปะลางิง ทั้งเทคนิคและเอกลักษณ์ลวดลายต่าง ๆ ที่พบเห็นมาออกแบบเป็นลวดลาย “บล็อกไม้” ที่ใช้พิมพ์ผ้าปะลางิง จนในปัจจุบันมีลวดลายบล็อกไม้กว่า 200 เลยทีเดียว

สำหรับแรงบันดาลใจสำคัญของนายปิยะ ประการหนึ่งเกิดขึ้นจากการที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดยะลาในปี พ.ศ. 2553 จนตั้งใจจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่จังหวัดเชียงใหม่ จนเมื่อได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ทรงตรัสให้ข้อคิดว่า “ถ้าครูภูมิปัญญาในพื้นที่ไปเสียแล้ว ชาวบ้านจะเหลือใคร” ด้วยคำตรัสของพระองค์ท่านครั้งนี้เอง ทำให้นายปิยะเปลี่ยนใจที่จะไม่ละทิ้งบ้านเกิด จึงมีแรงบันดาลใจในการมุ่งมั่นศึกษาและรื้อฟื้นผ้าปะลางิงเพื่อที่จะให้อยู่คู่จังหวัดยะลาต่อไป นายปิยะจึงถือได้ว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนรื้อฟื้นการทำ “ผ้าปะลางิง” ด้วยความต้องการที่จะอนุรักษ์ผ้าปะลางิงที่เคยสูญหายไปกว่า 70 ปี ให้กลับฟื้นคืนมาอีกครั้ง และยังทำให้ผ้าปะลางิง เป็นที่รู้จักนิยมอย่างกว้างขวางที่ไม่เพียงแค่ในจังหวัดยะลา และพื้นที่ชายแดนใต้เท่านั้น แต่ยังเป็นที่รู้จักและนิยมไปถึงต่างประเทศ เช่น ประเทศอินโดนีเซียด้วย

นายปิยะ ยังใช้หลักการสร้างสรรค์ผ้าปะลางิง ให้มีความใกล้เคียงกันกับเทคนิคการทำผ้าปะลางิงในสมัยโบราณให้มากที่สุด ทั้งการออกแบบลวดลายที่สะท้อนเรื่องราวของสถาปัตยกรรม วิถีชีวิต รวมถึงวัฒนธรรมในพื้นถิ่นใต้ เช่น ลายบนกระเบื้องโบราณจากมัสยิด ลายแม่พิมพ์โบราณ ช่องลมตามวังเก่า ที่อยู่อาศัย ลวดลายจากสถาปัตยกรรม ลายหัวจวนตานี ลายของว่าวในท้องถิ่นภาคใต้ เป็นต้น

ปัจจุบันนายปิยะผลิตผ้าปะลางิง ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ศรียะลาบาติก” สร้างสรรค์พัฒนาผลิตผ้าปะลางิง ให้มีมิติของสีสันและลวดลายที่มีความแปลกสะดุดตายิ่งขึ้นจนทำให้ “ผ้าปะลางิง” ฟื้นคืนชัวิตเป็นที่รู้จักและนิยมกันอย่างกว้างขวาง จนเป็นผ้าที่มีชื่อเสียงประจำจังหวัดยะลา มาจนถึงในปัจจุบันนี้

ปีที่ได้รับการเชิดชูจาก sacit :
พ.ศ. 2560
เพศ :
ชาย
ประเภทผลงาน :
เครื่องทอ
สถานะ :
มีชีวิต