เกี่ยวกับศิลปาชีพ
“...ข้าพเจ้านั้นภูมิใจเสมอมาว่า คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ชาวนาหรืออาชีพใดอยู่สารทิศใด คนไทยมีความละเอียดอ่อนและฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิด ขอเพียงแต่ให้เขาได้มีโอกาสและฝึกฝน เขาก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็นได้...”
พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 11 สิงหาคม 2532

งานศิลปาชีพ

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ

ความหมายของศิลปาชีพ

ศิลปาชีพ หมายถึง การส่งเสริมให้คนไทยในภูมิภาคต่างๆ ผลิตงานด้านศิลปหัตถกรรมเป็นอาชีพเสริม นอกเหนือจากการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลัก งานศิลปาชีพอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2519 โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้พระราชทานกำเนิดแก่มูลนิธิทรงเป็นประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิฯ

การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพนอกจากจะเป็นการส่งเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยแล้ว ยังช่วยอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทยและพัฒนาคุณภาพของฝีมือให้ดียิ่งขึ้น จนสามารถผลิตสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งสร้างสรรค์ฝานฝีมือชั้นเยี่ยมไว้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติอีกด้วย

กำเนิดมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพใน
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงอุทิศพระองค์ทรงงานตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้ราษฎรหลุดพ้นจากความยากจนด้วยการ พระราชทานอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ในการทรงงานดังกล่าวทรงเริ่มต้นและทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อยู่เป็นเวลานาน

ต่อมา ข้าราชบริพารได้ขอโดยเสด็จพระราชกุศล รวบรวมผู้มีจิตศรัทธานำเงินขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อก่อตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมภ์” ขึ้น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2519 ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับเป็นประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ และทรงงานศิลปาชีพมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากงานทอผ้าไหมมัดหมี่ในภาคอีสาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปาชีพแล้ว มูลนิธิฯ ยังส่งเสริมงานหัตถศิลป์อื่นๆ เช่น ผ้าไหมแพรวา ผ้าปักของชาวไทยภูเขา ผ้าปักซอยแบบไทย ถมเงินถมทอง งานประดับปีกแมลงทับ เครื่องปั้นดินเผา งานจักสานไม้ไผ่ลายขิด งานจักสานย่านลิเภา เครื่องเงิน ไม้แกะสลัก และอื่นๆ อีกมาก ด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเชื่อมั่นว่าคนไทยทั้งหลายนั้นมีสายเลือดของความเป็นช่าง เพียงได้รับโอกาสก็จะสามารถสร้างงานอันวิจิตรได้ มีพระราชดำริให้สร้างสรรค์งานฝีมือจากวัตถุดิบในท้องถิ่น รักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมร่วมกับการคิดค้นเทคนิควิธีใหม่ๆ ผลงานศิลปาชีพในแต่ละภูมิภาคจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นอย่างชัดเจน

ผลงานศิลปาชีพ